ประวัติโรงเรียน

พุทธศักราช 2475

บาทหลวงเอช การิเอ ได้ทำการเปิดโรงเรียน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนราษฎร์เซนต์ร็อค” เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2–4 โดยมีครูพิสิทธิ์ กิจเจริญ เป็นครูใหญ่คนแรก

พุทธศักราช 2485

โรงเรียนถูกสั่งปิดเนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน

พุทธศักราช 2488

ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการตามใบอนุญาต เลขที่ 2/2488 เมื่อวันที่ 20  กรกฎาคม พ.ศ. 2488 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนดาราสมุทร”

พุทธศักราช 2496

ขยายการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

พุทธศักราช 2503

สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น จำนวน 8 ห้องเรียน และขยายการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในช่วงต้นปีการศึกษา 2503 ได้มีภราดาคณะเซนต์คาเบรียลมาร่วมดำเนินการสอน

พุทธศักราช 2504

สร้างอาคารเรียนอีกหลังหนึ่ง เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น มี 6 ห้องเรียน

พุทธศักราช 2506

คณะผู้บริหารโรงเรียนได้แยกนักเรียนหญิงกับนักเรียนชายโดยนักเรียนชายนั้นได้มอบหมายให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล รับผิดชอบ และนักเรียนหญิง ได้มอบหมายให้อธิการโดวีโกและบราเดอร์ John May เป็นครูใหญ่

พุทธศักราช 2523

ได้ดำเนินการให้เป็นโรงเรียนของมิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดย ฯพณฯ พระสังฆราชยวง นิตโย เป็นผู้รับใบอนุญาตและได้มอบอำนาจให้ บาทหลวงเรอเนบริสซอง เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม

พุทธศักราช 2527

จัดงานชุมนุมศิษย์เก่า ในวันที่ 7 เมษายน นำรายได้สร้างสนามเด็กเล่น

พุทธศักราช 2528-2529

จัดงานประจำปี เพื่อนำรายได้มาจัดซื้ออุปกรณ์การสอนระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา โดยมีการแสดงละคร เรื่อง “น่านเจ้า”

พุทธศักราช 2530

เกิดเพลิงไหม้อาคารเรียน ซึ่งเป็นเรือนไม้ ทรงปั้นหยา 2 ชั้น จำนวน 8 ห้องเรียน ตั้งแต่เวลา  19.20–20.30 น. ความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 2,088,000 บาท จึงดัดแปลงวัดเก่าใช้เป็นห้องเรียนชั่วคราว หลังจากนั้นมีการสร้างอาคารเรียนแทนอาคารไม้ที่ถูกไฟไหม้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว 2 หลังๆละ 4 ห้องเรียน ขณะนั้นมีบาทหลวงวิทยา แก้วแหวน ดำรงตำแหน่ง ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ

พุทธศักราช 2532

ได้ทำการขอเปลี่ยนแปลงหลักสูตรก่อนประถมศึกษาจาก 2 ปี เป็นหลักสูตร 3 ปี โดยมีบาทหลวงเอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน ดำรงตำแหน่งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ

พุทธศักราช 2534

ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้อนุญาตให้ย้ายอาคารเรียนมาสร้างในบริเวณเดียวกับวัด ในเนื้อที่ 80 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น กว้าง 24 เมตร ยาว 56 เมตร มี 25 ห้องเรียนและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น กว้าง 24 เมตร ยาว 88 เมตร มี 33 ห้องเรียนและสร้างหอประชุม/โรงอาหาร อีก 2 หลัง

พุทธศักราช 2536

ขออนุญาตงดใช้อาคารเรียนหลังเก่าทั้งหมด เพื่อขอใช้อาคารเรียนหลังใหม่แทน ขออนุญาตย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียน ขอขยายการศึกษาเพิ่มในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งขออนุญาตรับนักเรียนอายุตั้งแต่ 3 ปี บริบูรณ์ ขึ้นไปถึง 28 ปี ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงระเบียบของโรงเรียน และทำพิธีเปิดเสกอาคารเรียน ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดย ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นมีบาทหลวง บุญเสริม เนื่องพลี ดำรงตำแหน่งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ

81605072_1463674673810569_61367356013674496_n

พุทธศักราช 2537

จัดทำสนามเด็กเล่นสำหรับนักเรียนอนุบาล จัดงานศิษย์เก่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ได้รับเงินบริจาคเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน จำนวน 477,287 บาท และเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์การศึกษาเป็นจำนวน 43,220 บาท ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2537 คุณบัญชา คุณสุรัติ ภานุประภา ได้บริจาคสมทบทุนการศึกษาเพิ่มอีก 200,000 บาทได้นำดอกเบี้ยมาจัดเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในปีต่อๆ มา

พุทธศักราช 2538

ได้ทำการสร้างกรงนกขนาดใหญ่ในสนามเด็กเล่นแผนกอนุบาลโดย ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณพ่อประเสริฐ ตรรกเวศม์ ได้ทำการย้ายศาลาที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านมาสร้างภายในบริเวณโรงเรียน อีกทั้งยังได้รับเงินบริจาคเป็นทุนการศึกษาเพิ่มอีก 222,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 688,287 บาท

พุทธศักราช 2539

ได้ทำการจัดสร้างห้องคอมพิวเตอร์จำนวน 2 ห้องเรียน มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน จำนวน 25 เครื่อง เครื่องครู 2 เครื่อง และเครื่อง server 2 เครื่อง รวม 27 เครื่อง และเปิดทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

พุทธศักราช 2540

ทำการซ่อมบำรุงอาคารเรียน สร้างลานจอดรถสำหรับครู 2 หลัง สร้างห้องน้ำ ห้องสุขา นอกอาคารเรียนเพิ่มขึ้น อีก 20 ห้อง และที่นั่งใต้ต้นไม้หน้าอาคารเรียนประถม – มัธยม

พุทธศักราช 2541

ทำการสร้างสนามฟุตบอล สนามวอลเล่ย์บอล ห้องน้ำนอกอาคารเรียนอีก 2 หลัง สร้างหอทดสอบการกระโดดหอสำหรับการเข้าค่ายลูกเสือ–เนตรนารี บนที่ดินหลังอาคารเรียน อีกทั้งยังได้ทำการปรับปรุง ห้องธุรการ ห้องวิชาการ แยกเป็นสัดส่วน เพื่ออำนวยความสะดวก แก่บุคลากรและผู้ปกครองที่มาติดต่อกับโรงเรียน

พุทธศักราช 2542

ได้ทำการปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์โดยมีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เพิ่มเติมโปรแกรม CAI ระบบมัลติมีเดีย จำนวน 27 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์จอภาพ แป้นพิมพ์ เมาส์ CPU ด้วยงบประมาณ 929,000 บาท ซึ่งขณะนั้นมีบาทหลวงสมโภชน์ พูลโภคผล ดำรงตำแหน่งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ

พุทธศักราช 2543

ได้ทำการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ภายในโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานภายในสถานศึกษาตามแผนงานต่างๆ เช่น ห้องธุรการ ห้องวิชาการ ห้องสมุด เป็นต้น อีกทั้งมีการเพิ่ม ห้องประชุมชั้น 2 จำนวน 2 ห้อง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำนวน 3 เครื่อง ติดผ้าม่านรอบห้อง  จอภาพสำหรับฉายสไลด์ ระบบเครื่องเสียงและมีการปรับปรุงพัฒนาห้องสมุด

พุทธศักราช 2544

ได้ทำการสร้างสวนเกษตรขึ้น โดยจัดให้อยู่ใน “โครงการจาริกเกษตรสาธิตผักปลอด สารพิษ เศรษฐกิจชุมชน” โดยให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ได้รับประโยชน์จากสวนเกษตรนี้และมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ใช้ฝึกปฏิบัติจริง ในกิจกรรมการเรียนการสอน อีกทั้งได้จัดสร้างอาคารปฏิบัติการชมรมสำหรับนักเรียนและครูเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน แต่อยู่ในช่วงดำเนินการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ

พุทธศักราช 2545

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช มาดำรงตำแหน่งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ โรงเรียนดาราสมุทรและได้ทำการต่องานในเรื่องของการสร้างอาคารปฏิบัติการชมรม ที่อยู่ในช่วงของการดำเนินงาน จัดทำป้ายทางเข้าโรงเรียน จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์

81343239_1463674557143914_5150082988142231552_n

พุทธศักราช 2546

ได้จัดตั้งคณะกรรมการตัวแทนผู้ปกครองและได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการ ตัวแทนผู้ปกครองในการจัดให้มีการเรียนการสอน เทควันโด ในโรงเรียน รวมทั้งการจัดสร้างสนามเปตอง จัดทำห้องเกียรติยศเพื่อเก็บรวบรวมประวัติ ทำเนียบผู้บริหารและผลงานของโรงเรียน จัดให้มีห้องการิเอ เพื่อใช้เป็นห้องรับรอง และห้องพักสำหรับคุณครู ย้ายนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–2 ไปเรียนที่อาคารอนุบาลชั้น 3 เพื่อใช้อาคารเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดทำห้องถ่ายเอกสาร มีการปรับพื้นที่บริเวณหลังอาคารเรียนประถม-มัธยม จากพื้นดินเปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีต เพื่อให้เด็กอ่านหนังสือและทำกิจกรรม จัดทำลานจอดรถสำหรับผู้ปกครอง ปรับพื้นที่สวนหย่อมรอบโรงอาหารโดยการปูตัวหนอน  ทาสีรั้วรอบโรงเรียนและลูกกรงอาคารเรียน ปรับปรุงสวนหย่อมภายในบริเวณโรงเรียน จัดงานเชื่อมใจสายสัมพันธ์ครั้งที่ 2 โดยร่วมมือกับคณะผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน โดยนำผลที่ได้จากการจัดงานมาจัดซื้อโต๊ะแสตนเลสเพื่อให้นักเรียนนั่งรับประทานอาหาร

พุทธศักราช 2547

โรงเรียนได้ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงความสามารถในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้โรงเรียนดาราสมุทร ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมแข่งขันทักษะทางด้านวิชาการ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นจำนวนหลายรางวัลและโรงเรียนดาราสมุทรได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก ในรอบแรก จากสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยมอบหมายให้ บริษัท เอส เอ วิชั่น จำกัด เป็นผู้ประเมิน รวมทั้งโรงเรียนกำลังดำเนินการเพื่อเตรียมรองรับการประเมินด้านสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เพื่อขอรับพระราชทานรางวัล จากพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา การจัดทำห้องอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีก 2 ห้อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอน มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ภายในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ จัดซื้อเครื่องโปรเจ็คเตอร์เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน และการจัดทำกิจกรรมสำหรับคุณครู จัดสร้างสวนผีเสื้อ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการศึกษา วัฎจักรวงจรชีวิตของผีเสื้อ รวมทั้งได้มีการก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าดาราสมุทร โดยได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าในแต่ละรุ่นเป็นอย่างดี รวมถึงการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการบริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการอำนวยการ ได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของโรงเรียน

พุทธศักราช 2548

โรงเรียนมีการพัฒนาบริเวณสถานที่ภายในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้สถานที่อย่างคุ้มค่า  โดยคณะผู้บริหารได้มีการจัดสร้าง ทางเชื่อมระหว่างอาคารเรียนประถม-มัธยมและอนุบาล ภายในปีเดียวกันนี้ บาทหลวงอนุชา และ คณะผู้บริหาร คณะครู นักเรียน และชุมชนได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์แม่พระดาราสมุทร เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจครอบครัวดาราสมุทร ณ บริเวณหน้าหอประชุมโรงเรียนดาราสมุทร พร้อมทำพิธีเปิดเสกอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม 2548 โดยพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลไมเคิ้ลมีชัย กิจบุญชู และมีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการรองรับการบริหารที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นในปีการศึกษา 2548 ยังมีการจัดการแข่งขัน เทควันโด ดาราสมุทรทัวร์นาเม้น ครั้งที่ 2 ขึ้นโดยได้รับความสนใจจากนักกีฬาเทควันโดยทั่วประเทศจำนวน 22 จังหวัด เข้าร่วมการแข่งขัน รวมไปถึงการออกไปแนะแนวการศึกษาต่อยังโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียน การจัดโครงการรักและรับใช้ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสรักและแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น

พุทธศักราช 2549

บาทหลวงทนุ เจษฏาพงศ์ภักดี ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้แทนผู้รับใบอนุญาตแทนบาทหลวงอนุชา ไชยเดช และซิสเตอร์สุนีย์พร กตัญญู ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนดาราสมุทร แทนซิสเตอร์ลำไพ เนื่องพลี เนื่องในวาระการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ. 2550 – 2552 ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนั้นยังปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียนให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เช่น การทำนา การเลี้ยงปลา การทำสวนมะม่วงและสวนกล้วย เพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับนักเรียน

พุทธศักราช 2552

บาทหลวงวรวุฒิ กิจสกุล ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้แทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ  แทนบาทหลวงทนุ  เจษฎาพงศ์ภักดี และซิสเตอร์อรวรรณ จันทร์ชลอ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน แทน ซิสเตอร์สุนีย์พร กตัญญู เนื่องจากครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ ได้พัฒนางานด้านลูกเสือ โดยจัดให้มีการอบรมลูกเสือสำรอง สามัญ และสามัญรุ่นใหญ่ ขั้นความรู้เบื้องต้น (B.T.C) และลูกเสือสำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C)

พุทธศักราช 2553

ซิสเตอร์มาลีรัตน์ บุญอนันตบุตร ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนซิสเตอร์อรวรรณ จันทร์ชลอ ที่ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ มีจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด 65 คน จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 2,225 คน เริ่มทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีรถร่วมบริการรับ-ส่งนักเรียนจำนวน 35 คัน ได้มีการปรับปรุงและพัฒนา ดังนี้

  • ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโรงเรียนดังนี้ คือ สวนหย่อม สวนสมุนไพร ศาลาพักผ่อนหน้าอาคารเรียนและยังได้จัดทำลานจอดสำหรับผู้ปกครองและครู จัดสร้างห้องประชุมดาวดาราพระแม่มารีย์ชั้น 2 ของอาคารเรียน
  • ปรับปรุงสนามบาสเก็ตบอล 2 สนามและสนามวอลเล่ย์บอล 2 สนามโดยทำหลังคาแสลม 3 ชั้นคลุมโดยรอบทั้ง 3 สนาม
  • ได้สนับสนุนให้ครูได้มีการพัฒนางานวิจัย
  • โรงเรียนได้ปรับปรุงห้องสมุดจนได้รับรางวัลห้องสมุดดีเด่น “โล่ทอง” ด้านกิจกรรมส่งเสริมการอ่านประจำปีการศึกษา 2553  จากฝ่ายการศึกษาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  • ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดอนุบาล ให้มีสื่อที่เพียงพอและเหมาะสมกับวัยของเด็ก

พุทธศักราช 2554

ซิสเตอร์สุชาตรี กิจประเสริฐ ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนซิสเตอร์มาลีรัตน์  บุญอนันตบุตร มีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น 57 คน และจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,103 คน ในปีนี้โรงเรียนได้ทำการปรับปรุงสนามเด็กเล่นอนุบาล โดยซื้อเครื่องเล่นสนามสำหรับเด็กอนุบาลเพิ่มเติม และทำหลังคาสแลนคลุม ได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นให้นักเรียนได้ลงปฏิบัติจริงสนับสนุนพื้นที่ ในการจัดทำแปลงเกษตรสำหรับนักเรียน และบ่อเลี้ยงปลาสำหรับเป็นแหล่งศึกษา หาความรู้สำหรับนักเรียน จัดระบบสารสนเทศโดยมีโปรแกรมสำเร็จรูปดังต่อไปนี้คือ

  • ระบบบันทึกเวลาเข้าออกเข้า – ออกสำหรับนักเรียน ครู และบุคคลกร
  • ระบบห้องสมุด ทะเบียนหนังสือ วารสาร  สื่อ บริการยืม–คืน บริการสืบค้น และการนับจำนวนผู้เข้ามาใช้ห้องสมุด
  • ระบบสารสนเทศข้อมูลครู ทะเบียนประวัติส่วนตัวครู รูปถ่าย ข้อมูลนักเรียน ทะเบียนประวัติส่วนตัวนักเรียน รูปถ่าย
  • ระบบงานปกครอง การบันทึกเกี่ยวกับพฤติกรรม ความประพฤติของนักเรียน รวมทั้งคุณลักษณะ ความสามารถพิเศษต่างๆ ของนักเรียน
  • ระบบรายงานผลการเรียน แจ้งผลการเรียนภาคเรียนละ 2 ครั้ง เอกสารหลักฐานการศึกษาประกอบด้วย ปพ.2 ปพ.3 ปพ.6 และ ปพ.7 รวมทั้งเอกสารจบการศึกษาต่าง ๆ
  • ระบบรายงานการชำระค่าธรรมเนียม พิมพ์ใบเสร็จรับเงิน ใบแจ้งหนี้ รายการรับชำระเงินประจำวันรายชื่อนักเรียนชำระเงิน – ค้างชำระเงิน สรุปยอดชำระเงินรายวัน

พุทธศักราช 2557

บาทหลวงพรชัย บรัศวกุล ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการ แทนบาทหลวงวรวุฒิ กิจสกุล และซิสเตอร์สุชาตรี กิจประเสริฐ เนื่องจากครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ ได้มีการปรับปรุงระบบบัญชีโรงเรียนให้ทันสมัย สอดคล้องกับระบบบัญชีของฝ่ายการศึกษาฯ โดยมีการนำเช็คมาใช้ในการจ่ายเงินเข้า-ออกซึ่งทำให้ง่ายต่อการเบิกจ่ายเงิน และในปีเดียวกันได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านปฐมวัยและประถมศึกษา–มัธยมศึกษา (รอบที่ 3) ระดับดี

พุทธศักราช 2558

มีการปรับปรุงอาคารสถานที่

  • ห้องคอมพิวเตอร์อาคารเรียนอนุบาลซึ่งได้มีการจัดสร้างไว้แล้ว โดยการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ จำนวน 35 เครื่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 2
  • ปรับปรุงห้องเรียนสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–2 เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและเพิ่มเติมห้องพักครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -2 ณ อาคารเรียนอนุบาล
  • ปรับปรุงอาคารประกอบอาหารให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของงานสุขาภิบาลอาหารและสะดวกต่อการใช้สอย
  • ปรับปรุงหลังคาสนามเด็กเล่นอนุบาลจากหลังคาสแลนกับผ้ายางพลาสติกซึ่งชำรุดบ่อยครั้งเป็นหลังคาเมทัลชีทให้มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อม
  • เพิ่มเติมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูลภายในห้องสมุด โดยการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อ ให้นักเรียนใช้ในการค้นหาข้อมูล

พุทธศักราช 2559

มีการปรับปรุงสถานที่

  • ก่อสร้างบ้านพัก 2 ชั้น สำหรับพนักงานวัดและพนักงานโรงเรียน และสร้างหลังคาคลุมหน้าบ้าน ต่อจากตัวตึกบ้านพักพนักงานออกมาซึ่งทำให้มีพื้นที่การใช้สอยเพิ่ม
  • ปรับปรุงหลังคาสนามกีฬาเอนกประสงค์ตึกประถม-มัธยม จากหลังคาสแลนกับผ้ายางพลาสติก ซึ่งเป็นหลังคาเมทัลชีทให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น อีกทั้งยังมีการทาสีและปรับปรุงสนามกีฬา

พุทธศักราช 2561

จัดซื้อชุดคอมพิวเตอร์จำนวน 43 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 786,900 บาท ใช้สำหรับการเรียน การสอนในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 จำนวน 41 เครื่อง และใช้สำหรับการบริหารงานทั่วไปจำนวน 2 เครื่อง รวมถึงมีการเพิ่มเติมระบบเน็ตเวิร์คในห้องคอมพิวเตอร์ 2 อีกด้วย

พุทธศักราช 2562

สร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์และเวทีหน้าอาคารเรียน 4 ชั้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าแถวเคารพธงชาติของนักเรียน หรือจัดกิจกรรมหรืองานต่างๆ อาทิ ประชุมนักเรียน ประชุมผู้ปกครอง โครงการหรือกิจกรรมตามโครงสร้างของโรงเรียน งานประจำปีของโรงเรียน งานบริการวัดและชุมชน เป็นต้น

พุทธศักราช 2563

สร้างบ้านพักครูสำหรับครูชาวต่างประเทศ 4 ห้อง เพื่อรองรองการเข้าพักอาศัยของครูชาวจีน และครูสอนภาษาอังกฤษ มีการปรับปรุงหลังคาโรงรถ และสร้างเตาเผาขยะ

81496099_1463675320477171_1265314678414770176_n

พุทธศักราช 2564 (ปัจจุบัน)

บาทหลวงวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้แทนผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการ  แทนบาทหลวงพรชัย บรัศวกุล เนื่องจากครบวาระการปฏิบัติหน้าที่

โรงเรียนดาราสมุทร

0